Thursday 5 May 2011

ประวัติของพระอัญญาโกญฑัญญะ ตอนที่ ๑


 
เหตุที่ข้าพเจ้าจะเขียนถึงประวัติของพระอัญญาโกญฑัญญะนั้น เพราะ ท่านเป็นพระอนุพุทธ พระสงฆ์องค์แรกของโลก เป็นผู้รู้ผู้ตื่น ตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์แรก เป็นผู้ที่ทำให้พระรัตนตรัย ครบองค์ ๓  ซึ่ง เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่พระองค์คิดว่ายากนั้น ก็ยังมีผู้ที่สามารถรู้ตามพระองค์ได้ เรามาทราบถึงประวัติของพระอัญญาโกญฑัญญะกันได้เลยครับ       
พระอัญญาโกณฑัญญะเถระ เดิมชื่อ โกณฑัญญะ เกิดในตระกูลพราหมณ์แห่งบ้านโทณวัตถุ กรุงกบิลพัสดุ์ เป็นหนึ่งในจำนวนพราหมณ์ ๘ คน ที่พระเจ้าสุทโธทนะทรงคัดเลือกให้ทำนายพระลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะหลัง ประสูติได้ ๕ วัน โดยโกณฑัญญะยืนยันว่าเจ้าชายสิทธัตถะจะเสด็จออกผนวชและจะได้เป็นพระศาสดาเอก ของโลก  
          เมื่อโกญฑัญ ญะพราหมณ์ได้ทราบข่าวว่า เจ้าชายสิทธัตถะได้ออกบวช โกณฑัญญะจึงชวนบุตรพราหมณ์ ๔ คนคือ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะและอัสสชิ ออกบวชตามไปคอยปรนนิบัติพระองค์อยู่ขณะพระองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ((ปัจจุบันสถานที่นี้เรียกว่า ดงคศิริ) ด้วยหวังว่าหลังจากพระองค์ตรัสรู้แล้ว จักได้รับคำสั่งสอนจากพระองค์ แต่เมื่อเห็นว่าพระองค์ทรงเลิกทำทุกรกิริยาคือการอดอาหาร หันมาเสวยพระกระยาหารตามเดิม โกณฑัญญะและสหายทั้งสี่เข้าใจว่าพระองค์ทรงคลายความเพียรเวียนกลับมาเป็นคน มักมากเสียแล้ว ไม่มีโอกาสตรัสรู้ตามที่ตั้งใจแน่ จึงพากันละทิ้งพระองค์ไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวง เมืองพาราณสี  เมื่อพระโพธิสัตว์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและได้เสวยวิมุติสุข แล้ว ก็ทรงตรวจดูว่า จะมีผู้ใดที่จะตรัสรู้ธรรมตามที่พระองค์ได้รู้ ก็ทรงทราบว่าอาจารย์ของพระองค์คือ อาฬารดาบสและอุททกดาบสทำกาละแล้ว เมื่อทรงดำริต่อไป ก็เกิดพระดำริขึ้นว่า ภิกษุปัญจวัคคีย์ผู้บำรุงเราตอนเราตั้งความเพียร นับว่าเป็นผู้มีอุปการะมากแก่เรา ถ้ากระไร เราจะพึงแสดงธรรมแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ก่อน
          จากนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเสด็จไปแสดงธรรมให้แก่ปัญจวคีย์  ณที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ครั้นเมื่อเสด็จไปถึง ปัญจวคีย์ ได้ตั้งกติกากันก่อนว่า ถ้าพระพุทธเจ้าเสด็จมา เราจะเฉยเสีย แต่เมื่อเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมา ต่างก็ลืมกติกานั้นเสีย  พระพุทธเจ้าจึงได้แสดงธรรม ซึ่งเป็น ปฐมเทศนา ที่มีชื่อว่า  ธรรมจักกัปปวัตตนสูตร”  เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงธรรมนี้จบลง ท่านโกญฑัญญะ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม รู้ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดาพระผู้มีพระภาค ทรงได้เปล่งอุทานว่า  อญฺญาสิ วต โภ โกญฺทญฺโญ”  แปลว่า  โกญฑัญญะ รู้แล้วหนอ   คำว่าอัญญาโกฑัญญะ จึงได้เป็นชื่อของท่านโกณฑัญญะ ดังนั้น พระเถระจึงดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ในวันอาสาฬหปุรณมี เพ็ญกลางเดือน ๘
         
               เมื่อท่านอัญญาโกญฑัญญะได้ธรรมจักษุแล้ว จึงทูลขอบวช พระพุทธองค์ทรงประทานให้โดยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทาด้วยพระดำรัสว่า  ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด   หลัง จากนั้นพระผู้มีพระภาค ทรงโอวาทสั่งสอนด้วยธรรมีกถาแก่ภิกษุทั้งหลายที่เหลือ อันได้แก่ท่านพระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะและท่านพระอัสสชิ  ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่านทั้งหลายเหล่านั้นว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวง มีความดับไปเป็นธรรมดา และท่านทั้งหลายเหล่านั้น ก็ได้ทูลขออุปสมบทตามลำดับไป และในครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค จึงได้แสดงธรรมเทศนาอันมีชื่อว่า อนัตตลักขณสูตร แก่พระภิกษุปัญจวคีย์ โดยมีเนื้อหาสรุปได้ว่า
ภิกษุ ทั้งหลาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ(ขันธ์ ๕) เป็นอนัตตา ถ้า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้จักเป็นอัตตาแล้วไซร้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในรูป เวทนา....ว่า รูป เวทนา...ของเราจงเป็นอย่างนี้ รูป เวทนา...ของเราอย่าได้เป็นไปอย่างนั้น”  ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะรูป เวทนา...เป็นอนัตตา ฉะนั้น รูป เวทนา...จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในรูป เวทนา...ว่า รูป เวทนา...ของเราจงเป็นอย่างนี้ รูป เวทนา...ของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น
พระผู้มีพระภาค ตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอ เข้าใจข้อนั้นอย่างไร รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง ภิกษุปัญจวคีย์ทูลว่า ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”   เป็นทุกข์พระเจ้าข้า”   “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”  ข้อนั้นไม่ควรเลยพระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  ภิกษุ ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดนั่น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา
ภิกษุ ทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในรูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขาร ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ  เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณว่าหลุดพ้นแล้ว อริยสาวกย่อมรู้ชัดแล้วว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว  กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี “ 
เมื่อพระพุทธองค์ ตรัสพระสูตรนี้จบ จิตของภิกษุปัญจวคีย์ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย บรรลุอรหัตตผลในเวลาต่อมา          
              ในตอนหน้า เรามาดูถึงเหตุที่พระเถระได้รับการแต่งตั้งเป็นพระเถระผู้มีเอตะทัคคะด้าน "รัตตัญญู"กันครับ

No comments:

Post a Comment